อว. เปิดเวทีสัมมนาพัฒนานักศึกษา ปี 2567
ชูแนวคิด “เสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยกระดับบุคลากร ขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีสัมมนาพัฒนานักศึกษา ปี 2567 ด้วยแนวคิด “เสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: บูรณาการ SDGs สู่อุดมศึกษา” (Empowering Minds for a Sustainable Future: Integrating SDGs in Higher Education) มุ่งเสริมศักยภาพบุคลากรและนิสิตนักศึกษา ขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ผู้นำนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เข้าร่วมงานสัมมนา ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายน 2567 ณ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

วราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาให้มีทักษะที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ รวมถึงส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับการเติบโตของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการนักศึกษาและการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับปรุงระบบงาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาไทยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)”

“กระทรวง อว. จึงจัดงานสัมมนาวิชาการด้านพัฒนานักศึกษา ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” : บูรณาการ SDGs สู่อุดมศึกษา (Empowering Minds for a Sustainable Futures: Integrating SDGs in Higher Education) เพื่อบูรณาการผสานแนวทางการพัฒนานักศึกษากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตนักศึกษา เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต รวมทั้งมุ่งส่งเสริมให้บุคลากรด้านการพัฒนานักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ เป็นเวทีสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนานักศึกษาในบริบทที่ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้สามารถนำความรู้และข้อมูลที่ได้รับจากการสัมมนาไปปรับใช้ในการพัฒนางานกิจการนักศึกษาในสถาบันของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและบุคลากรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนานักศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย อันจะเป็นการเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการแก้ปัญหาสำหรับงานด้านกิจการนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตนักศึกษาในการเป็นผู้นำและผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน
การเปิดเวทีสัมมนาวิชาการครั้งนี้จะเป็นการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาการศึกษาและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัท กลุ่ม เซ็นทรัล จำกัด ร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “พลังการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การนำเสนอวิสัยทัศน์เรื่องเสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” การบูรณาการ SDGs สู่อุดมศึกษาไทย จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติทักษะทุนชีวิต โดยสัดส่วนประชากรเยาวชน และผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 15-64 ปี จำนวนมากขาดทักษะทุนชีวิต จากข้อมูลโครงการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชาชนวัยแรงงาน โดยแบ่งเป็น ทักษะดิจิตอล 74.1% การรับรู้หนังสือ 64.7% ทักษะทางอารมณ์และสังคมการมีส่วนร่วม 30.3% ทักษะทางอารมณ์และสังคมค้นหาสิ่งใหม่ๆ 30.3% จะเห็นได้ว่าสถานะของทักษะทุนชีวิตในประเทศไทย ทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล ซึ่งมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDF ในปี 2565 ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัล (CENTRAL GROUP)และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน กว่า 75 ปี ได้ตอกย้ำเสมอถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนให้มีความเท่าเทียมในสังคม และตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจในเชิงคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของสังคม ยกระดับการดำเนินงานพัฒนา CSR สู่ CSV เพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจและสังคมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างอาชีพสร้างชุมชนให้พนักงาน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาของไทยมากว่า 40 ปี ในด้านการสนับสนุนการสร้างอาคารเรียน ผสมผสานการให้ด้านวัตถุและกระบวนการเรียนรู้ ในด้านการร่วมการก่อตั้งโรงเรียนประชารัฐ พัฒนาแบบเชื่อมต่อท่อการศึกษาโรงเรียนขยายโอกาส กับภาคการศึกษาวิทยาลัยห้องเรียนอาชีวะ พร้อมทั้งพัฒนาการศึกษาเชื่อมโยงทุกระดับชั้นของการศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย โดยกลุ่มเซ็นทรัลเชื่อว่า การพัฒนาการศึกษาเชื่อมโยงทุกระดับนั้น จะก่อให้เกิดพลังทางการศึกษา ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียน มีการเตรียมความพร้อม วางแผน พัฒนาทักษะตนเองตลอดจนเรียนรู้สิ่งต่างๆเพื่อในไปใช้การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม ในแต่ละดับ

อย่างไรก็ตามพลังการศึกษาที่จะสามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยการบูรณาการทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยรัฐต้องกำหนดนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ก้าวข้ามข้อจำกัดและกฎระเบียบเดิม ในการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพเน้นการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นคิด วิเคราะห์แก้ไขปัญหาในชีวิตได้จริง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ลดการสร้างผลงานวิชาการของบุคลากรทางการศึกษาลง เน้นการการพัฒนาบุคลากรที่ทันสมัย ปรับปรุงหลักสูตร เสริมทัพการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ และผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพสามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เพื่อพลังการศึกษาสู่การบูรณาการ SDGs อย่างยั่งยืน
อีกทั้งกิจกรรมภายในงาน ยังได้รับฟัง การเสวนาจากวิทยากรรับเชิญ คุณธีระพงศ์ ระบือธรรม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท สมุนไพรไทย หงส์ไทย จำกัด เจ้าของยาดมกระปุกเขียวแบรนด์ “หงส์ไทย” ในหัวข้อ “มุมมองแนวคิดเจ้าของธุรกิจ” และรับพลังบวกกับการเลือกใช้ชีวิตอย่างไม่รู้สึกว่าต้องขออนุญาตใครกับนักแสดงชื่อดังที่ผันตัวเองมาเป็นนักจิตวิทยาบำบัด “เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ” ซึ่งจะมาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “เส้นทาง แรงบันดาลใจ สู่จุดพักใจ” เพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจ
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาพิเศษเรื่องการบูรณาการกิจกรรมนักศึกษากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากคณาจารย์ผู้ทรวงคุณวุฒิในระดับอุดมศึกษา พร้อมชมนิทรรศการแสดงผลงานและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษา และบูธกิจกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ อาทิ Mental Health Check in และการบริการให้คำปรึกษา โดยกรมสุขภาพจิต Sustainable Market จากสถาบันอุดมศึกษา กิจกรรม Check in จุดไฮไลต์เพื่อรับของรางวัล ปิดท้ายด้วยการมอบรางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษาดีเด่น

สำหรับการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักศึกษา เข้าร่วมงานกว่า 800 คน ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้านการพัฒนานักศึกษา และเตรียมความพร้อมในการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไปในอนาคต